Anantaya Pornwichianwong|6th July 2023
ในโลกการทำงานของดาต้า มีตำแหน่งที่ทำงานคล้ายคลึงกันอยู่ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ Data Analyst และ Business Analyst แต่ละตำแหน่งคืออะไร? และทำงานแตกต่างกันอย่างไร? เซอร์ทิสพาผู้อ่านไปหาคำตอบกันครับ
การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจในแต่ละวัน ตำแหน่งงานในสายข้อมูลก็ค่อย ๆ ทยอยแตกแยกย่อยออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บางครั้งมีตำแหน่งที่ทับซ้อนกันและทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่บ้าง
Data Analyst และ Business Analyst ก็เป็นสองตำแหน่งที่มักถูกเข้าใจผิดกันอยู่บ่อย ๆ บางองค์กรก็มีทั้งสองตำแหน่ง หรือบางองค์กรก็จะใช้หนึ่งตำแหน่งที่ทำงานคาบเกี่ยวกันในสองขอบเขตนี้
วันนี้เซอร์ทิสชวนผู้อ่านทุกคนไปดูกันว่า หากมองกันลึก ๆ ลงไปจริง ๆ แล้ว สองตำแหน่งนี้มีความต่างและความเหมือนกันตรงจุดไหน? และตำแหน่งไหนเหมาะกับความสามารถแบบไหนบ้าง?
Data Analyst ทำอะไร?
หน้าที่หลักของ Data Analyst คือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวโน้มหรือข้อมูลเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ รวมไปถึงการคอยจัดเก็บข้อมูล ดูแลฐานข้อมูล จัดระเบียบ จัดประเภท และจัดเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่รับผิดชอบวิเคราะห์ข้อมูลในองค์กรเป็นหลักเลย
ในการวิเคราะห์ข้อมูล Data Analyst จะใช้ทักษะด้านการวิเคราะห์เชิงสถิติคู่กับการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ มาเพื่อหาคำตอบที่ต้องการที่ซ่อนอยู่ภายในข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลของ Data Analyst จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลในระดับของ Big Data ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าเชื่อถือ
Data Analyst จะต้องทำงานกับเครื่องมือด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย อาทิ Python, SQL, R และ Tableau เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกตัวชี้วัดและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดได้จากข้อมูล
ข้อมูลที่ Data Analyst วิเคราะห์ออกมาได้ ก็จะถูกส่งต่อให้ฝ่ายธุรกิจ เช่น การตลาด ฝ่ายขาย หรือผู้บริหาร นำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ ในการทำงาน การหาสาเหตุของปัญหา ไปจนถึงการติดตามประสิทธิภาพการทำงาน
Business Analyst ทำอะไร?
Business Analyst ก็ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเช่นเดียวกับ Data Analyts แต่จะทำในแง่ของการประเมินสถานการณ์ของธุรกิจ และดูว่าสามารถเอาผลการวิเคราะห์ข้อมูลหรือข้อมูลเชิงลึกมาพัฒนาธุรกิจในด้านไหนได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร การทำแคมเปญการตลาด หรือการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจต่าง ๆ
นอกเหนือจากการวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว อีกหน้าที่ที่สำคัญมากสำหรับ Business Analyst คือการนำเสนอผลการวิเคราะห์ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีทักษะการใช้เครื่องมือด้าน Data Visualization สื่อสารผลการนำเสนอให้เข้าใจง่าย รวมถึงมีทักษะด้านการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ และการตัดสินใจที่ดี
โดยสรุปแล้วสิ่งสำคัญที่คนเป็น Business Analyst ต้องโฟกัส คือการหาทางแก้ปัญหา และพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยเฉพาะ เป็นการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ ศึกษาข้อมูลที่ได้ นำเสนอข้อมูล และนำมาประกอบการร่วมตัดสินใจเชิงธุรกิจที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจได้อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องมีความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างมาก
Data Analyst VS Business Analyst
แม้จะมีหน้าที่และรูปแบบงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง แต่ความแตกต่างหลัก ๆ ของ Data Analyst และ Business Analyst นั้นคือการที่ Data Analyst จะเน้นทำงานเชิงเทคนิคมากกว่า โดยต้องรับผิดชอบตั้งแต่การเก็บข้อมูล จัดการกับข้อมูล เตรียมข้อมูล จัดเก็บข้อมูล ไปจนถึงการวิเคราะห์ เรียกได้ว่าอยู่หลังบ้านมากกว่านิดหน่อย และดูแลตั้งแต่ต้นทางในการนำเข้าข้อมูล
รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลของ Data Analyst นั้นเป็นการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมหลากหลายรูปแบบ เน้นหลัก ๆ คือการแปลงข้อมูลในมือออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึก และค้นหาเรื่องราวที่ข้อมูลต้องการจะบอก ส่วนผลลัพธ์นั้นครอบคลุมหลากหลายรูปแบบการทำงาน จะใช้กับธุรกิจ เช่น การสร้างยอดขาย หรือเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเทคนิค เกี่ยวกับกระบวนการทำงานภายใน เช่น การทำงานของเครื่องจักรในโรงงานก็ได้ และที่สำคัญคือ Data Analyst จะส่งต่อข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาต่อไปให้ภาคส่วนธุรกิจทำการตัดสินใจจากข้อมูลต่อไปเอง ไม่ได้ทำต่อไปจนถึงขั้นตอนของการตัดสินใจ
ในขณะที่ Business Analyst จะเน้นไปที่ปลายทางมากกว่า โดยจะเริ่มนำข้อมูลที่ผ่านการเตรียมมาแล้วมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบทางธุรกิจโดยเฉพาะ Business Analyst จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาทางธุรกิจมากกว่า Data Analyst นั่นเอง และที่สำคัญคือ Business Analyst จะมีบทบาทหลักในการนำข้อมูลที่ได้เข้ามาช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ เรียกได้ว่าทำตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลไปจนถึงการร่วมตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายเลย
คุณสมบัติแบบนี้ ควรทำตำแหน่งไหน?
1. การศึกษา
ในสองตำแหน่งนี้ ต้องการภูมิหลังด้านการศึกษาที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยปกติแล้ว Business Analyst มักจะมาจากสาขาวิชาที่เน้นเชิงธุรกิจมากกว่า เช่น สาขาวิชาบริหารธุรกิจ และมาเสริมเติมเรื่องความรู้ทางด้านเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมภายหลัง ในขณะที่ Data Analyst จะทำงานเชิงเทคนิคในการจัดการกับข้อมูลมากกว่าเล็กน้อย จึงมักมาจากสาขาวิชาด้านวิศวกรก็จะได้เปรียบกว่าในเชิงความรู้ด้านเทคนิค
2. ความสนใจ
ความสนใจส่วนตัวของเราก็สามารถเป็นตัวกำหนดตำแหน่งที่เราควรจะทำได้เช่นกัน คนที่เป็น Business Analyst มักจะสนใจโลกของธุรกิจ การแก้ปัญหาทางธุรกิจ ในขณะที่ Data Analyst อาจมีความสนใจในด้านสถิติ หรือด้านโปรแกรมมิงมากกว่าเล็กน้อย เข้าใจการจัดการกับข้อมูลและฐานข้อมูล เน้นความชอบด้านเทคนิคมากกว่า แต่ยังคงมีความสนใจด้านธุรกิจที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านธุรกิจให้ลูกค้าได้
จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วก็ไม่มีการขีดเส้นแบ่งหรือคำนิยามที่ตายตัว เป็นการเลือกใช้งานแต่ละตำแหน่งให้เหมาะกับการทำงานในแต่ละองค์กรไป และสองตำแหน่งนี้ก็กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก
อย่างที่เซอร์ทิสเอง เราก็จะเน้นไปทางตำแหน่ง Data Analyst ที่ทำงานวิเคราะห์เชิงธุรกิจด้วยเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้าปลีก พลังงาน หรือ FMCG และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ทีมของเราจะได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานและความท้าทายที่หลากหลายจากลูกค้าชั้นนำในทุกอุตสาหกรรมแน่นอน
ถ้าใครอยากเริ่มต้นค้นหาเส้นทางที่ใช่และเปิดประสบการณ์ความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกของเอไอและดาต้า
เซอร์ทิสอาจเป็นอีกที่ที่ใช่สำหรับคุณ มาร่วมเติบโตไปพร้อมกับเรา
ดูตำแหน่งที่เปิดรับสมัครได้ที่: https://www.careers.sertiscorp.com/
Anantaya Pornwichianwong