Anantaya Pornwichianwong|7th October 2024
Data Engineering กับ Art คือสองศาสตร์ที่ฟังดูเผิน ๆ แล้วอาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ Ahsan Aftab, Data Engineer ที่เซอร์ทิส มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะและศาสตร์แห่งการทำ Data Engineering ที่เชื่อมต่อกันอย่างลงตัว
ในบทสัมภาษณ์นี้ เซอร์ทิสพาผู้อ่านไปสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะและ Data Engineering ซึ่งเป็นตัวจุดประกายความหลงใหลในการทำงานในฐานะ Data Engineer ของ Ahsan รวมไปถึงสิ่งที่เขาชอบที่สุดในการทำงานที่เซอร์ทิส
ความแตกต่างที่เชื่อมโยงกันระหว่างศิลปะและ Data Engineering
“‘Data Engineer’ คือส่วนผสมของคำ 2 คำ ได้แก่ ‘Data’ และ ‘Engineer’ แต่สำหรับผมแล้ว คำที่สองนั้นมีความสำคัญกว่ามากและเป็นสิ่งที่ทำให้มีคำแรกเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นในตอนเริ่มต้น ผมจึงพยายามอย่างหนักที่จะเป็น Engineer ที่ดี
ผมเองมีความชอบส่วนตัวด้านศิลปะและมนุษยศาสตร์ และชอบที่จะสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายในชีวิต ดังนั้นในการทำงาน ผมมองว่า Data Engineering ตอบโจทย์ในด้านที่เปิดโอกาสให้ผมได้ทดลองใช้เครื่องมือ เทคนิค และแนวทางในการออกแบบที่หลากหลาย การทำงานเป็น Data Engineer ให้องค์กรจึงเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผม
แต่สิ่งที่ผมชอบยิ่งกว่า คือการนำแนวทางของ Data Engineering มาประยุกต์ใช้ในชีวิตส่วนตัวของผม ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยมีงานอดิเรกในการทำงานศิลป์แบบสามมิติ ซึ่งต้องใช้การสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ในรูปแบบสามมิติ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของหุ่น เอฟเฟกต์ ฉากหลัง หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จนถึงจุดหนึ่งผมเริ่มสังเกตได้ว่า ผมใช้ขั้นตอนซ้ำ ๆ กันในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ จนผมสามารถเขียนขั้นตอนเหล่านั้นออกมาเป็น Pipeline หรืออาจจะเรียกว่า ‘3D Pipeline’ ซึ่งไม่ว่าจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แตกต่างกันมากแค่ไหน ก็จะต้องมีการทำตามขั้นตอนใน Pipeline เหล่านี้
ผมมองเห็นขั้นตอนที่น่าทึ่งเหล่านี้ในการทำ Data Pipeline ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานด้าน Data Engineering เช่นกัน Data Pipeline เป็นขั้นตอนที่ทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนงานหลากหลายที่แตกต่างกันให้เป็นระบบอัตโนมัติได้ และเรายังสามารถนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มมองเห็นใจความสำคัญของผมแล้วใช่ไหมครับ? เรากำลังพูดถึงการใช้ชีวิตที่ประยุกต์ใช้คอนเซ็ปต์ของ ‘Data Engineering’”
การทำงานในฐานะ Data Engineer ที่เซอร์ทิส
“ในโลกดิจิทัลและเอไอ คำว่า ‘Data’ หรือ ‘ข้อมูล’ ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเรามากยิ่งกว่าเมื่อต้นทศวรรษ 2000s มีการนำ Data มาประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้นอย่างมหาศาล Data ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือความต้องการในงานด้าน Data Engineering ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในองค์กรเหล่านั้น
ซึ่งรูปแบบ Architecture หรือความต้องการบางอย่างในงานของ Data Engineering ก็มีความซับซ้อนมาก ผมมองว่าหัวใจสำคัญในการทำงานเหล่านั้นให้สำเร็จคือการรับบทบาท Engineer อย่างเต็มตัว ตั้งแต่การเข้าไปทำความเข้าใจรูปแบบการทำงานขององค์กรนั้น ๆ ผ่านการใช้เครื่องมืออัจฉริยะต่าง ๆ ที่เรามีในมือ จากนั้นจึงใช้ทักษะด้าน Engineering ของเราในการอัปเกรดระบบหรือโซลูชันเหล่านั้นให้ดีกว่าเดิม
ที่เซอร์ทิสเอง ผมก็มีโอกาสได้ทำงานกับเทคโนโลยีและเครื่องมือที่หลากหลาย ซึ่งบางส่วนก็จะเป็นเครื่องมือแบบ Open Source ในขณะที่บางส่วนเป็นเครื่องมือแบบ Proprietary ที่จำกัดสิทธิ์การใช้งาน หรือบางอย่างก็เป็นแบบผสมระหว่างทั้งสองอย่าง ในทีมของเรา เราพยายามอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจปัญหาในธุรกิจก่อน ตามด้วยการหาทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุดและครอบคลุมที่สุดให้ปัญหาดังกล่าว
ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า Engineering เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง สามารถกลายเป็นงานศิลป์ได้ ซึ่งในการทำงานในทีม ที่เซอร์ทิส เรามีเป้าหมายในการไปให้ถึงจุดที่ Engineering กลายเป็นศิลปะได้เช่นกัน และสิ่งที่ผมชอบที่สุดเกี่ยวกับทีม Data Engineering ที่เซอร์ทิส คือความหลากหลายภายในทีม เราเป็นหนึ่งในทีมที่มีความหลากหลายที่สุดในเซอร์ทิส และเราเชื่อว่านี่แหละคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ทีมของเราแข็งแกร่ง”
จากบทสัมภาษณ์ของ Ahsan จะเห็นได้ว่า ความเชื่อมโยงระหว่าง Data Engineering และศิลปะนั้นลึกซึ้งกว่าที่เราคิด รวมถึงขั้นตอนเชิง Engineering ยังสามารถปรับใช้กับการทำงานศิลป์ รวมถึงนำมาออกแบบชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
ความชอบในคุณสมบัติดังกล่าวของ Data Engineering ผลักดันให้ Ahsan พัฒนาทีม Data Engineering ที่เซอร์ทิสให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการมองงานด้าน Data Engineering ให้เป็นศิลปะที่จะเข้าไปแทรกซึมอยู่ทุกอณูของชีวิต
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเซอร์ทิสและ Life at Sertis ได้ที่: https://www.sertiscorp.com/
Anantaya Pornwichianwong